[ : KPS Campus : ][ : SRC Campus : ][ : ChalermpraKait : ][ : Supanburi Campus : ][ : Lopburi Campus : ][ : Krabi Campus : ]
:: ข้อมูลทั่วไป ::
:: การบริหาร ::
:: วิชาการ ::
:: งานวิจัย ::
:: หน่วยงาน ::
:: วิธีการเข้าศึกษาใน มก. ::
:: สำหรับสินิต ::
:: สำหรับบุคคลากร ::
:: ข่าวและกิจกรรม ::
:: สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ::
:: นานาสาระ ::
:: เสียงสู่อธิการบดี ::
:: สำนักหอสมุด ::
:: เกษตรศาสตร์ของเรา ::

 

หน้าแรก > งานวิจัย > การกำจัดโลหะหนักในน้ำเสียโดยใช้เปลือกไข่และเถ้าแกลบดำ

 

การกำจัดโลหะหนักในน้ำเสียโดยใช้เปลือกไข่และเถ้าแกลบดำ

อ.อัจฉรา ดวงเดือน

ตะกั่วและแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่เป็นสารพิษอันตรายอย่างสูงต่อสิ่งมีชีวิตที่มักพบปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภท อาทิโรงงานแบตเตอรี่ โรงงานชุบโลหะ อุตสาหกรรมสี น้ำทิ้งจากเหมืองสังกะสี หรือ น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น หากร่างกายได้รับสารตะกั่วเข้าไปสะสมเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนอาจทำให้เป็นอัมพาตได้ ส่วนแคดเมียมจะสะสมในกระดูกและไตทำให้เกิดโรคอิไตอิไต

อ.อัจฉรา ดวงเดือน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิธีการกำจัดโลหะหนักที่มีอยู่ในน้ำเสีย โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรชื่อว่า โครงการกำจัดตะกั่วโดยใช้เถ้าแกลบดำ และโครงการกำจัดแคดเมียมโดยใช้เปลือกไข่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน

หลักการทำงานของทั้ง 2 โครงการ เป็นการทำให้โลหะหนักที่มีอยู่ในน้ำเสียมาเกาะติดอยู่ที่ผิวของสารดูดติดผิวในที่นี้คือ เปลือกไข่เป็ดหรือไข่ไก่ที่บดละเอียด และเถ้าแกลบดำล้างสะอาด ซึ่งบรรจุอยู่ในถังทรงกระบอก เนื่องจากเปลือกไข่และเถ้าแกลบดำมีความพรุนสูง และมีองค์ประกอบทางเคมีที่เอื้ออำนวยให้โลหะหนักมาเกาะติดที่ผิวของเปลือกไข่และเถ้าแกลบดำ ทำให้โลหะหนักถูกกำจัดออกมาจากน้ำเสียได้

ขั้นตอนการทำงาน ปล่อยน้ำเสียให้ไหลผ่านสารดูดติดผิวที่บรรจุอยู่ในถังทรงกระบอกอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นเก็บน้ำที่ผ่านการกรองไปวิเคราะห์หาโลหะหนักที่เหลืออยู่

ประสิทธิภาพในการกำจัดโลหะหนัก จะขึ้นอยู่กับค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือพีเอชของน้ำเสีย ซึ่งค่าที่เหมาะสมของการใช้เปลือกไข่เป็นสารดูดติดผิวในการกำจัดแคดเมียมอยู่ที่ พีเอช 5-6 ส่วนการใช้เถ้าแกลบดำเป็นสารดูดติดผิวในการกำจัดตะกั่วที่ค่าประมาณพีเอช 3 ขึ้นไป ประสิทธิภาพการกำจัดแคดเมียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกไข่ไก่สูงถึงร้อยละ 99.75 เมื่อใช้เปลือกไข่ 3.28 กิโลกรัม การกำจัดตะกั่วสูงถึงมากกว่าร้อยละ 99.85 เมื่อใช้เถ้าแกลบดำ 4.58 กิโลกรัม

อัตราการกรองน้ำเสียในการกำจัดแคดเมียมใช้ 1.5 เมตร/ชม. การกำจัดตะกั่วใช้ 0.4 เมตร/ชม. ถ้าอัตราการกรองช้าจะมีประสิทธิภาพสูง และมีอายุการใช้งานนาน ซึ่งได้นำผลการวิจัยการใช้เถ้าแกลบดำไปใช้จริงกับน้ำเสียของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ พบว่าสามารถกำจัดตะกั่วในน้ำเสียได้ตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง

สำหรับวิธีการกำจัดสารดูดติดผิวที่ใช้แล้ว ทำได้โดยรวบรวมบรรจุในถุงแล้วหุ้มด้วยซีเมนต์ทำให้เป็นแท่งแล้วนำไปฝังในพื้นที่ห่างไกลชุมชนและแหล่งน้ำ หรือส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดกากสารพิษของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

การนำเปลือกไข่และเถ้าแกลบดำมาใช้ในการกำจัดแคดเมียมและสารตะกั่ว เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่มากมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนที่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำได้ ในอนาคตจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรมไทย

 

 

Kasetsart University of Thailand
หน้าแรก || ค้นหาข้อมูล || ติดต่อ
Copyright (C) 2002. Kasetsart University
Revised : June, 2002
Contact WebMasTeR of Kasetsart University