[ : KPS Campus : ][ : SRC Campus : ][ : ChalermpraKait : ][ : Supanburi Campus : ][ : Lopburi Campus : ][ : Krabi Campus : ]
:: ข้อมูลทั่วไป ::
:: การบริหาร ::
:: วิชาการ ::
:: งานวิจัย ::
:: หน่วยงาน ::
:: วิธีการเข้าศึกษาใน มก. ::
:: สำหรับสินิต ::
:: สำหรับบุคคลากร ::
:: ข่าวและกิจกรรม ::
:: สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ::
:: นานาสาระ ::
:: เสียงสู่อธิการบดี ::
:: สำนักหอสมุด ::
:: เกษตรศาสตร์ของเรา ::

 

หน้าแรก > งานวิจัย > ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุปุ๋ย กำมะถัน โซเดียม ความเค็มของดิน และอายุเก็บเกี่ยว


ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุปุ๋ย กำมะถัน โซเดียม ความเค็มของดิน และอายุเก็บเกี่ยว
กับผลผลิตและคุณภาพการหุงต้มของข้าวขาวดอกมะลิ 105

อำนาจ สุวรรณฤทธิ์1 สุภาพ บูรณากาญจน์1 สมชาย กรีฑาภิรมย์1 พิบูลย์ กังแฮ1 จิรวัฒน์ พุ่มเพชร1 ประยูร เพียตะเณร1 วารุณี วารัญญานนท์2 พัชรี ตั้งตระกูล2 ศิริชัย สมบูรณ์พงษ์3 ทรงศักดิ์ รัฐปัตย์4 สัมพันธ์ รัตนสุภา4 ปัญญา ร่มเย็น4 ทรงชัย วัฒนพายัพกุล5 กรรณิกา นากลาง5 สว่าง โรจนกุศล5 พิทักษ์ พรอุไรสนิท5 ประโยชน์ เจริญธรรม6 วิไลลักษณ์ พละกลาง6 สัญชัย สัตตวัฒนานนท์7 และวาสนา อินแถลง7

1 ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
2 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
3 สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 15250
4 สถานีทดลองข้าวพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 30110
5 สถานีทดลองข้าวสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000
6 ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 25150
7 ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110

บทคัดย่อ

ได้ทำการทดลองในกระถางและในนารวม 13 การทดลอง เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยไนโตรเจนต่อคุณภาพการหุงต้มและการรับประทานของเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่หุงสุก วัดคุณภาพโดยวิธีประสาทสัมผัส จากผลการทดลองได้ข้อสรุปและคำแนะนำดังนี้ คือ 1) ความหอม ความนุ่ม ความขาว ความเหนียว และความเลื่อมมันของข้าวจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับเปอร์เซนต์ไนโตรเจนในข้าวเปลือก โดยคุณภาพเหล่านี้จะผันแปรตรงข้ามกับเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนในข้าวเปลือก 2) หากพิจารณาตลอดช่วงผลผลิต ความหอมและความเลื่อมมันของข้าวไม่ผันแปรไปกับอัตราปุ๋ย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะช่วงพบว่า ปุ๋ยไนโตรเจนที่ให้ผลผลิตไม่เกิน 80% ของผลผลิตสูงสุดไม่มีผลต่อสมบัติทั้งสอง แต่เมื่อใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากกว่าอัตราที่ให้ผลผลิตข้าวเปลือก 80% ของผลผลิตสูงสุด จนถึงอัตราที่ให้ผลผลิตต่ำลง พบว่า ความหอมและความเลื่อมมันผันแปรตรงข้ามกับอัตราปุ๋ยไนโตรเจน 3) ในด้านความนุ่ม ความขาวและความเหนียวของข้าว หากเริ่มจากสภาพที่ไม่มีไนโตรเจนในดิน การใส่ปุ๋ยจะทำให้สมบัติเหล่านี้ผันแปรตามอัตราปุ๋ยไนโตรเจนจนถึงอัตราที่ให้ผลผลิต 16-34 % แล้วการเพิ่มปุ๋ยต่อไปอีกจะทำให้คุณภาพต่ำลง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงคุณภาพทั้งสามประการนี้น้อยมากและตรวจวัดได้ยากในช่วงที่ข้าวให้ผลผลิตต่ำกว่า 80% ของผลผลิตสูงสุด 4) ดินที่จะปลูกข้าวขาวดอกมะลิได้คุณภาพสูงคือดินที่มีไนโตรเจนต่ำ 5) การผลิตข้าวหอมมะลิโดยการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อเพิ่มกำไร ควรจะระวังไม่ให้ปุ๋ยไนโตรเจนเกินอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตสูงสุด และ 6) ดินที่มีปริมาณไนโตรเจนสูงเกินระดับที่เริ่มให้ผลผลิตสูงสุดไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพราะจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพต่ำเกินไป

ได้ทำการทดลองในกระถางและในนารวม 6 การทดลอง เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยฟอสฟอรัสต่อคุณภาพการหุงต้มและการรับประทานของเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่หุงสุก วัดคุณภาพโดยวิธีประสาทสัมผัส จากผลการทดลองได้ข้อสรุปและคำแนะนำดังนี้ คือ 1) ความหอมของข้าวไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราปุ๋ยฟอสฟอรัส ผลผลิตข้าวเปลือก น้ำหนักแห้งรวมของข้าว และเปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสในต้นข้าว แต่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสในข้าวเปลือก โดยความหอมของข้าวสูงสุดเมื่อข้าวเปลือกมีฟอสฟอรัส 0.28% 2) ความนุ่มของข้าวมีความสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวเปลือก น้ำหนักแห้งรวม เและเปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสในข้าวเปลือก และอัตราปุ๋ย แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสในต้นข้าว โดยความนุ่มสูงสุดเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสในอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 3) ความขาว ความเหนียว และความเลื่อมมันของข้าวมีความสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวเปลือก น้ำหนักแห้งรวม เปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสในข้าวเปลือก เปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสในต้นข้าว และอัตราปุ๋ยฟอสฟอรัส โดยสมบัติเหล่านี้จะสูงสุดเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสในอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 4) ดินที่จะปลูกข้าวขาวดอกมะลิให้ได้คุณภาพสูง คือ ดินที่มีฟอสฟอรัสไม่เกินระดับที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 5) หากต้องการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพสูง จะต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสในอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุดและต้องระวังไม่ให้ปุ๋ยเกินอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตสูงสุด และ 6) ดินที่มีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อข้าวเกินระดับที่เริ่มให้ผลผลิตสูงสุดไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพราะจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพต่ำ

ได้ทำการทดลองในกระถางและในนารวม 8 การทดลอง เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยโพแทสเซียมต่อคุณภาพการหุงต้มและการรับประทานของเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 วัดคุณภาพของเมล็ดข้าวหุงสุกโดยวิธีประสาทสัมผัส จากผลการทดลองได้ข้อสรุปและคำแนะนำดังนี้ คือ 1) ความหอม และความเลื่อมมันมีความสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวเปลือกและน้ำหนักแห้งส่วนเหนือดิน และอัตราปุ๋ยโพแทสเซียม แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์โพแทสเซียมในข้าวเปลือกและในส่วนเหนือดินของต้นข้าว 2) ความนุ่มมีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์โพแทสเซียมในข้าวเปลือกและในส่วนเหนือดิน แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวเปลือก น้ำหนักแห้งรวมส่วนเหนือดิน และอัตราปุ๋ย 3) ความเหนียวไม่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวเปลือกและน้ำหนักแห้งส่วนเหนือดิน อัตราปุ๋ยโพแทสเซียม เปอร์เซ็นต์โพแทสเซียมในข้าวเปลือก และเปอร์เซ็นต์โพแทสเซียมในในส่วนเหนือดินของต้นข้าว 4) ความขาวมีความสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวเปลือก น้ำหนักแห้งส่วนเหนือดิน อัตราปุ๋ยโพแทสเซียม และเปอร์เซ็นต์โพแทสเซียมในส่วนเหนือดิน แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์โพแทสเซียมในข้าวเปลือก 5) ความหอมสูงสุดเมื่อข้าวได้รับปุ๋ยโพแทสเซียมเกินอัตราที่ให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุดจนทำให้ได้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงเหลือเพียง 82% ของผลผลิตสูงสุด 6) ความนุ่มสูงสุดเมื่อมีโพแทสเซียมในข้าวเปลือก 0.23% หรือในส่วนเหนือดิน 1.18% ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 7) ความขาวสูงสุดเมื่อใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมเกินอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกและน้ำหนักแห้งส่วนเหนือดินสูงสุด จนทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงเหลือ 98% ของผลผลิตสูงสุด หรืออัตราที่ให้โพแทสเซียมในส่วนเหนือดิน 1.98% 8) ความเลื่อมมันสูงสุดเมื่อข้าวได้รับปุ๋ยโพแทสเซียมเกินอัตราที่ให้ผลผลิตข้าวเปลือกและน้ำหนักแห้งส่วนเหนือดินสูงสุดจนทำให้ได้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงเหลือเพียง 55% ของผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 9) หากต้องการผลผลิตสูงพร้อมกับคุณภาพสูงควรใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมในอัตราที่ให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด และ 10) การปลูกข้าวบนดินที่มีโพแทสเซียมเกินระดับที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุดจะได้ข้าวที่มีความหอม ความขาว และความเลื่อมมันสูงกว่า แต่มีความนุ่มต่ำกว่าข้าวที่ปลูกบนดินที่มีโพแทสเซียมระดับที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด

ได้ทำการทดลองในกระถางรวม 3 การทดลอง เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยกำมะถันต่อคุณภาพการหุงต้มและการรับประทานของเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 วัดคุณภาพของเมล็ดข้าวหุงสุกโดยวิธีประสาทสัมผัส จากผลการทดลองได้ข้อสรุปและคำแนะนำดังนี้ คือ 1) หากดินมีกำมะถันไม่เพียงพอต่อความต้องการของข้าว การใส่ปุ๋ยกำมะถันจะทำให้ความหอม ความนุ่ม ความขาว ความเหนียว และความเลื่อมมันของเมล็ดข้าวเพิ่มขึ้นตามอัตราปุ๋ยกำมะถันจนถึงอัตราหนึ่งแล้วการเพิ่มปุ๋ยต่อไปทำให้คุณภาพเหล่านี้ต่ำลง โดยอัตราปุ๋ยกำมะถันที่ให้คุณภาพแต่ละด้านสูงสุดแตกต่างกัน 2) หากต้องการข้าวที่มีความหอมและความเหนียวสูงสุดจะต้องใส่ปุ๋ยกำมะถันในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุดจนทำให้ผลผลิตลดลงเหลือเพียง 88% ของผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 3) หากต้องการข้าวที่มีความนุ่มและความเลื่อมมันสูงสุดจะต้องปลูกข้าวโดยให้ได้รับกำมะถันในปริมาณที่ให้ผลผลิตข้าวเปลือกเป็น 96-98% ของผลผลิตสูงสุด 4) หากต้องการข้าวที่มีคุณภาพทั้งห้าประการสูงพร้อมกับผลผลิตสูงควรจะใส่ปุ๋ยในอัตราที่เริ่มให้ผลผลิตสูงสุดหรือให้ผลผลิตใกล้จุดสูงสุด และ 5) ดินที่มีกำมะถันสูงเป็นดินที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่มีคุณภาพสูง

ได้ทำการทดลองในกระถางรวม 4 การทดลอง เพื่อศึกษาผลของความเค็มของดินและโซเดียมต่อคุณภาพการหุงต้มและการรับประทานของเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 วัดคุณภาพของข้าวสารหุงสุกโดยวิธีประสาทสัมผัส จากผลการทดลองได้ข้อสรุปและคำแนะนำดังนี้ คือ 1) การเพิ่มความเค็มของดินจากระดับที่ใกล้จะทำให้ผลผลิตของข้าวเปลือกลดลงไม่มีผลต่อความหอมของข้าวหุงสุก แต่ทำให้ความนุ่มและความเหนียวของข้าวลดลง 2) การเพิ่มความเค็มของดินจากระดับที่ใกล้จะทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงไม่มีผลต่อความขาวและความเลื่อมมันของข้าว แต่การเพิ่มความเค็มของดิน จนถึงระดับที่ผลผลิตข้าวเปลือกลดลง ทำให้สมบัติทั้งสองนี้ต่ำลง 3) การใส่โซเดียมให้แก่ข้าวไม่มีผลต่อความหอมของข้าวหุงสุก 4) การใส่โซเดียมในอัตราที่ไม่มีผลต่อผลผลิตข้าวเปลือกไม่มีผลต่อความนุ่ม ความขาว และความเลื่อมมันของข้าว แต่การใส่ในอัตราที่ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงทำให้สมบัติทั้งสองนี้ต่ำลง 5) การใส่โซเดียมไม่ว่าจะเป็นอัตราใดทำให้ความเหนียวของข้าวต่ำลง

ได้ทำการทดลองในกระถางใหญ่ เพื่อศึกษาผลของอายุเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพการหุงต้มและการรับประทานของเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 วัดคุณภาพเมล็ดข้าวโดยวิธีประสาทสัมผัส จากผลการทดลองได้ข้อสรุปดังนี้ คือ 1) ผลผลิตตอซังข้าวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มอายุเก็บเกี่ยว ส่วนผลผลิตข้าวเปลือกไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเพิ่มอายุเก็บเกี่ยวจาก 83 วันเป็น 116 และ 150 วัน แต่เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเพิ่มอายุเก็บเกี่ยวเป็น 181 วัน เพราะเปอร์เซ็นต์ต้นที่ให้รวงดีลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเพิ่มอายุเก็บเกี่ยวเพิ่มจาก 83 เป็น 181 วัน ในขณะที่การเพิ่มอายุเก็บเกี่ยวเป็น 116 และ 150 วันทำให้เปอร์เซ็นต์ต้นที่ให้รวงดีลดลงมาก 2) ความหอม ความนุ่ม ความขาว ความเหนียว และความเลื่อมมันของข้าวหุงสุกเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเก็บเกี่ยวยาวขึ้น โดยคุณภาพส่วนใหญ่สูงขึ้นมากที่สุดเมื่อเพิ่มอายุเก็บเกี่ยวจาก 83 เป็น 116 วัน และ 3) การเพิ่มของคุณภาพของเมล็ดข้าวดังกล่าวเป็นผลจากการที่การเพิ่มอายุเก็บเกี่ยวทำให้ต้นข้าวปรับสู่สภาพที่มีธาตุอาหารในระดับที่ส่งเสริมให้เมล็ดข้าวมีคุณภาพสูงมากขึ้น

ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบความเชื่อถือได้ของวิธีวิเคราะห์ดินทางเคมี 10 วิธี สำหรับประเมินความเป็นประโยชน์ของไนโตรเจนในดินต่อข้าวขาวดอกมะลิ 105 และเพื่อการคำนวณอัตราปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับข้าวพันธ์นี้ วิธีที่ศึกษาได้แก่ 1) วิธีที่วัดปริมาณอินทรียวัตถุในดิน โดยวิธีของ Walkley และ Black 2) วิธีที่วัดปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดในดินโดยวิธีของ Kjeldahl 3) วิธีที่สกัดไนโตรเจนในดินด้วยสารละลาย K2Cr2O7 ที่มีฤทธิ์เป็นกรด 4) วิธีที่สกัดไนโตรเจนในดินด้วยสารละลาย KMnO4 ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง 5) วิธีที่สกัดไนโตรเจนในดินด้วยสารละลาย KMnO4 ที่มีฤทธิ์เป็นกรด 6) วิธีที่สกัดไนโตรเจนในดินด้วยสารละลาย CaCl2 และ K2SO4, 7) วิธีที่สกัดไนเตรทตามวิธีของ Keeney และ Nelson (1982) และวัดปริมาณไนเตรทที่สกัดได้ด้วยการกลั่น 8) วิธีที่สกัดอนินทรียไนโตรเจนในดินด้วย 2N KCl แล้ววัดปริมาณไนโตรเจนที่สกัดได้ด้วยการกลั่นเป็นแอมโมเนียโดยทำปฏิกิริยากับ MgO และ Devarda alloy, 9) วิธีที่วัดปริมาณ NH4-N ที่ปลดปล่อยในการบ่มดินภายใต้สภาพน้ำขังเป็นเวลา 7 วัน และ 10) วิธีที่วัดปริมาณ NH4-N ที่ปลดปล่อยในการบ่มดินภายใต้สภาพน้ำขังเป็นเวลา 14 วัน ทำแปลงทดลอง 18 แห่ง ทั้งในและนอกพึ้นที่ที่ปลูกข้าวขาวดอกมะลิเป็นประจำ ผลปรากฏว่า มีเพียง 2 วิธีที่ให้ดัชนีที่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตสัมพัทธ์ของข้าวเปลือก คือ วิธีที่ 9 และ 10 โดยวิธีที่ 10 ให้ดัชนีที่เชื่อถือได้มากกว่าเล็กน้อย วิธีที่ศึกษาทุกวิธีให้ดัชนีที่ไม่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตสัมพัทธ์ของน้ำหนักแห้งส่วนเหนือดินและปริมาณไนโตรเจนในส่วนเหนือดินของข้าว สมการคำนวณอัตราปุ๋ยไนโตรเจนจากการวิเคราะห์ดิน คือ log (100 - y) = 2 - 0.0226b - 0.0374x สำหรับวิธีที่ 9 และ log (100-y) = 2 - 0.00533b - 0.0584x สำหรับวิธีที่ 10 เมื่อ y เป็นผลผลิตข้าวเปลือกที่ต้องการ (คิดเป็น % ของผลผลิตสูงสุด) b เป็นผลการวิเคราะห์ดิน (เป็น ppm N) และ x เป็นอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ต้องใส่ (เป็น กก.N/ไร่) วิธีที่ 10 เป็นวิธีที่น่าจะนำมาใช้มากกว่า เพราะให้ดัชนีที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีที่ 9

 

 

 

Kasetsart University of Thailand
หน้าแรก || ค้นหาข้อมูล || ติดต่อ
Copyright (C) 2002. Kasetsart University
Revised : June, 2002
Contact WebMasTeR of Kasetsart University